พื้นฐานด้านโลหะของอลูมิเนียมผสม


พื้นฐานด้านโลหะของอลูมิเนียมผสม

          มีเพื่อนๆสอบถามหลังไมค์เรื่องพื้นฐานการหล่อหลอมทั้งอลูมิเนียมและโลหะอื่นๆ แอดมินจึงขอเคาะหัวตัวเอง เอาความรู้ออกมาเล่าสู่กันฟังครับ อย่างไรก็ตาม แอดมินเอง มิใช่อาจารย์มหาวิทยาลัย แต่ได้ความรู้จากภาคสนาม ได้อาจารย์ที่เป็นตัวชิ้นงาน ตัวของเสียให้มาแก้ไข การดูแลเตาหลอม อุกปรณ์เครื่องมือต่างๆ การปรับคอนดิชั้นเครื่องฉีดกับน้องๆหน้าเครื่อง การลองผิดลองถูก และการได้กลับไปเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย รวมทั้งสิ่งใดที่ไม่รู้ เมื่อเปิดใจออกดู จะรู้ว่ามีครูอยู่รอบๆข้างเต็มไปหมด จึงกล่าวได้ว่า ทั้งอาจารย์ ลูกค้าไทย ลูกค้าต่างชาติ นายญี่ปุ่น คู่ค้า คู่แข่ง ประสบการณ์ ตำรา ยูทูป กูเกิล และอื่นๆ เป็นสิ่งที่หล่อหลอมตัวแอดมินขึ้นมาในวันนี้

นอกเหนือจากความรู้และประสบการณ์ด้านเทคนิคแล้ว ประสบการณ์ด้านการบริหารคน ปัญหาในโรงงาน การบริหารงานแบบเข้าจิตเข้าใจนายญี่ปุ่น แอดมินก็จะนำมาเล่าสู่กันฟังเป็นตอนๆ ครับ ใครอยากได้หัวข้อแบบไหน ทักกันมาได้ครับ บางครั้งอาจช้าอาจเร็วทันใจบ้าง ไม่ทันใจบ้างก็ต้องขออภัยครับ เพราะงานนี้เรามาด้วยใจล้วนๆ อาจช้าหน่อยแต่ชัวร์นะ จะบอกให้อะไรประมาณนั้น เรามาเริ่มกันในเรื่อง พื้นฐานด้านโลหะของอลูมิเนียมผสมกันก่อนละกันครับ และเนื่องจากเพจเราเน้นงานหล่ออลูมิเนียม ทั้งหล่อหลอมเศษเป็นอินกอท หรืองานฉีด งานเท ดังนั้นแอดมินก็จะเล่าไปด้านนี้เป็นหลักนะครับ สำหรับเพื่อนๆสายโลหะอื่นๆ ที่ถามไถ่มาว่าไม่มีบ้างหรือ ก็ต้องกราบขออภัย ที่ต้องเรียนว่า ขอให้นำองค์ความรู้ไปปรับ ประยุกต์ใช้กันนะครับ หรือสอบถามกันมาได้ ถ้าแอดมินไม่รู้ แอดมินจะพยายามไปสอบถามผู้รู้มาให้ครับ จะถูกผิดอย่างไร แอดมินน้อมรับคำติชมครับ

อลูมิเนียมนั้น ถือว่าเป็นธาตุที่มีมากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจาก ออกซิเจนและซิลิกอนเท่านั้นครับ มีการผลิตมากขึ้นๆ ใช้งานกันมากขึ้นๆ ทุกๆปี ยิ่งรถไฟฟ้ามาแรงๆ การลดน้ำหนัก การเปลี่ยนวัสดุจากเหล็กเป็นอลูมิเนียมก็มีโอกาสมากขึ้น น่าสนใจกันมากขึ้นแล้วใช่ไหมครับ

พื้นฐานด้านโลหะของอลูมิเนียมผสมนี้ เมื่อแปลเป็นไทยแล้วอ่านไม่ค่อยจะเข้าใจ เอาว่าง่ายๆ เรียกว่าอลูมิเนียมอัลลอยด์(aluminium alloy) ละกันครับ ซึ่งหมายความว่าอลูมิเนียมที่มีธาตุต่างๆ ผสมอยู่ด้วย เลยเรียกว่าอลูมิเนียมอัลลอยด์ จะมีกี่ชนิด ไม่ต้องไปจำให้ปวดหัว ไม่มีสอบ เรามาเริ่มตั้งแต่ อลูมิเนียมเพียวหรือบริสุทธิ์ เกรด 99.7, 99.8 ซึ่งได้มากจากการถลุงแร่บ๊อกไซด์ สีส้มๆแดงๆ ในบ้านเราไม่มีโรงงานผลิตอลูมิเนียมเพียวเกรดนี้ เพราะเราไม่มีแร่ ไม่มีเหมือง เราต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศครับ อาจนำมาจากจีน จากรัสเซีย ออสเตรเลีย กิวนี อื่นๆ ด้วยความเป็นอลูมิเนียมเพียว จึงนำมาทำพวกสายไฟบ้าง ที่เปิดกระป๋องเบียร์บ้าง หรือเอามาเป็นส่วนผสมกับอลูมิเนียมอัลลอยด์อื่นๆ บางครั้งก็เอามาใช้ล้างเตา เป็นยังไง ก็แบบเราต้มแกงเผ็ดแล้วอยากล้างหท้อเปลี่ยนเป็นแกงส้ม เราก็จะใช้นำเปล่าๆมาล้างหม้อ ก็เป็นแบบเดียวกัน ถ้าต้องการหลอมอัลลอยด์ที่ค่าสารแตกต่างกันเยอะๆ ก็จะใช้อลูมิเนียมเพียวหลอมตาม แล้วล้างเบ้าแบบล้างหม้อ เราก็จะได้เตาที่สะอาด หรือบางทีก็ใช้เติมลงไปในเตาหลอม เวลาที่ต้องการปรับค่าสารในเตาหลอม เช่นค่าเหล็กในเตาเกินไป ถ้าต้องการให้ค่าเหล็กลดลงก็เติมอลูมิเนียมเพียว ซึ่งก็เปรียบเสมือนทำแกงเผ็ด ถ้ารสชาติมันเผ็ดไป ก็เติมน้ำเปล่าเพิ่มลงไป เท่านี้รสชาติก็จางลงได้

แม้เราจะไม่ได้ผลิต แต่รู้เรื่องการผลิตหน่อยก็ดีครับ กรรมวิธีที่นำมาถลุงแร่บ๊อกไซด์ นั้น เริ่มจากเอาแร่มาต้ม ต้มจนได้ผงสีขาวๆ เรียกว่า ผงอลูมิน่า (alumina) ไม่ใช่ผงแป้งแบบที่เขาหิ้วกันนะครับ หากดูปริมาณผงที่ได้แล้ว ถ้าเราต้มแร่ 4 ตัน จะได้ผงอลูมิน่ามาครึ่งนึงคือ 2 ตัน แล้วนำไปถลุงต่อด้วยกระบวนการทางไฟฟ้าที่เรียกว่า Hall-Heroult Process สกัดอลูมิเนียมบริสุทธิ์ออกมาได้ 1 ตัน ซึ่งกรรมวิธีนี้เป็นกรรมวิธีที่คุณ Hall และคุณ Heroult ที่อยู่คนละประเทศ คิดวิธีเดียวกันขึ้นมาได้พร้อมๆกันในยุคที่ไม่มีอินเตอร์เนท และอยู่คนละประเทศด้วย ถ้าไม่ใช่เพราะกระแสจิต จุดธูปคุยกัน ก็คงจะต้องมีอะไรสักอย่างเป็นแน่แท้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายต่างแปลกใจเป็นอันมาก และไม่รู้จะทำยังไง เลยตั้งชื่อกรรมวิธีนี้ด้วยการรวมชื่อนักวิทยาศาสตร์ทั้งคู่เลย ให้เกียรติแบบว่าคิดมาพร้อมๆกัน แม้อยู่ไกลกัน

กรรมวิธีนี้เป็นอย่างไร ก็เป็นดังนี้ครับเขาต่อขั้วบวกขั้วลบมีสะพานไฟต่อถึงกัน นึกง่ายๆแบบการชุบทอง ใครเคยเอาสร้อยไปชุบ อาจนึกภาพออกได้ง่าย แอดมินไม่เคยชุบ เคยแต่ไปตึ๊งทองเท่านั้นครับ (สมัยหนุ่มๆ) กลับมาๆ ขออภัยครับ หลังจากถลุงอลูมิน่าแล้ว สิ่งที่ได้คืออลูมิเนียมเพียวนี่แหล่ะครับ ก็จะนำไปหล่อเป็นแท่งอินกอท(Ingot) แท่งบินเลท(Billet) ทำเป็นม้วน(Rolling) เป็นแผ่น(Sheet) ต่อๆไป ไว้คราวคราวหน้า แอดมินจะมาทยอยเล่าให้ฟังเรื่องพื้นฐานคุณสมบัติอลูมิเนียมในคราวต่อๆไปครับ


ที่มารูป website : International Aluminum

#ความรู้จับไม่ได้มองไม่เห็นแต่ส่งต่อได้

#คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก

#คนไทยรักกันช่วยเหลือกัน

#กำลังใจยิ่งให้ยิ่งเกิด

Uncategorized

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *